Online Interview for RAC NAMA Evaluation and Learning Exercise (ELE)

นายกสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้แทนจากกองทุน NAMAs Facility 16 กพ 2564
คุณอรุณ เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ออนไลน์กับ

International Expert and Thailand RAC ELE Team Lead

NAMA Support Project Evaluation and Learning Exercises

 โดยทีมผู้สัมภาษณ์ 3 ท่าน ประกอบด้วย

- Mr. Joseph Laurence Penas ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ

- Ms. Sarah Corry ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ

- Mr. Padungsak Unontakarn ผู้เชี่ยวชาญไทย

หัวข้อ

Evaluation and Learning Exercise of Thailand Refrigeration and Air-Conditioning NAMA Support Project

คำถาม

ความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเป็นอย่างไร

คำตอบ

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้ให้การสนับสนุนการกำหนดและดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมกำลังพัฒนาเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานให้เป็นไปตามแผนยี่สิบปี ฉบับปี คศ 2010 ของกระทรวงพลังงาน โดยตั้งเป้าที่จะให้เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานสูงขึ้นอย่างน้อย 25% จากปี คศ 2005 ภายในปี คศ 2030 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศของทั้งผู้ผลิตของไทยและต่างประเทศได้พัฒนาไปรวดเร็วกว่าแผนที่กำหนดด้วย ผู้ผลิตทุกรายได้รับเครื่องหมายการประหยัดพลังงานเบอร์ 5 จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งมีข้อกำหนดสูงกว่ามาตรฐานการใช้พลังงานขั้นต่ำที่กำหนดโดยภาครัฐ

ภาคอุตสาหกรรมฯของไทยเป็นผู้นำในการเปลี่ยนการใช้สารทำความเย็นจาก R-22 ไปเป็นสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือ R-32 ที่มีดัชนีที่ทำให้โลกร้อนลดลงประมาณ 2 ใน 3 ของสารเดิม อีกทั้งหลีกเลี่ยงการใช้สารทำความเย็นชนิด R-410A ซึ่งมีดัชนีที่ทำให้โลกร้อนสูงกว่า R-32 ถึงเกือบ 3 เท่า และยังเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป

นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้มีความพยายามในการพัฒนาเครื่องปรับอากาศแบบ inverter โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภาครัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศ

คำถาม

ท่านเห็นว่าภาคส่วนเครื่องปรับอากาศมีการเจริญเติบโตและมีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

คำตอบ

การตัดสินใจของภาคอุตสาหกรรมฯของไทยตัดสินใจเลือกพัฒนาเทคโนโลยี R-32 มาทดแทนสาร R-22 ทั้งหมด ในปี คศ 2013 ซึ่งในขณะนั้นมีเพียงบางบริษัทในญี่ปุ่นที่เลือกสาร R-32 ในขณะที่ส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่สาร R-410A ที่มีดัชนีที่ทำให้โลกร้อนสูงเป็น 3 เท่าของ R-32 นับเป็นการตัดสินใจที่ก้าวหน้ากว่าผู้ผลิตอื่นๆทั้งในประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นไม่กี่ประเทศอาจมีการเลือกพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้สารทำความเย็นที่มีดัชนีที่ทำให้โลกร้อนต่ำกว่า R-32 แต่ก็นำมาใช้ในวงจำกัด ไม่เหมือนกับประเทศไทย

การเลือกใช้ R-32 แทน R-22 ทั้งหมดในการผลิตเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประเทศไทยลดการนำเข้าสาร R-22 ลงได้ถึงประมาณ 8,200 ตัน ซึ่งเท่ากับการเลิกใช้สารที่ทำให้โลกร้อนได้มากกว่า 11.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือเท่ากับลดการปลดปล่อยไอเสียจากรถยนต์ถึงปีละกว่า 2.5 ล้านคัน

ในปัจจุบันเครื่องปรับอากาศชนิด R-32 ได้รับความนิยมทั้งในตลาดต่างประเทศและในประเทศ เครื่องปรับอากาศชนิด R-32 มีการขยายตัวในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าเทคโนโลยีอื่นๆเป็นอย่างมาก ภาคอุตสาหกรรมฯของไทยจึงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที

คำถาม

ต้องการทราบข้อมูลเชิงลึกของท่าน เกี่ยวกับการลดใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นโดยสารทำความเย็นที่มี GWP สูงในประเทศไทย เช่น R-32 เป็นต้น

คำตอบ

ขอชี้แจงว่า แม้กระทั่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติมิได้พิจารณาว่าสาร R-32 เป็นสารทำความเย็นที่มี GWP สูง อีกทั้งสาร R-32 ยังเป็นสารทดแทนสำคัญในการลดใช้สารที่มีดัชนีที่ทำให้โลกร้อนของนานาประเทศ ถึงเช่นนั้นภาคอุตสาหกรรมฯของไทยก็มิได้ไว้วางใจ ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการติดตามและพัฒนาสารที่ทีค่าดัชนีที่ทำให้โลกร้อนที่ต่ำกว่า R-32  เข้ามาทดแทน แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีสารที่ปลอดภัยกว่า R-32 และที่เหมาะสมกว่ามาทดแทน

แผนการลดเลิกใช้สาร R-22 ในเครื่องปรับอากาศของประเทศจีนที่ได้นำเสนอต่อหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ยังคงพิจารณาที่จะทดแทนการใช้สาร R-22 กว่า 90% ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ด้วยสาร R-32 และ สาร R-410A ทั้งนี้ประเทศจีนเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับประเทศไทยปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจใช้สารทำความเย็นแบบธรรมชาติ เช่น R290 คือเรื่องความปลอดภัย  กฎหมายและมาตรฐานฝีมือช่างเครื่องปรับอากาศ ข้อกำหนดและกฎหมายการใช้สารทำความเย็นติดไฟในอาคารสูง เป็นต้น

อีกประเด็นสำคัญคือประเทศไทยเป็นฐานผลิตเครื่องปรับอากาศใหญ่อันดับ 2 ของโลก 90% ของปริมาณการผลิตจะถูกส่งออก ดังนั้นผู้ประกอบการจะผลิตตามความต้องการหลักของตลาดโลกซึ่งปัจจุบัน ความต้องการเครื่องปรับอาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในตลาดโลกยังไม่ได้มีสูงนัก

เกี่ยวกับกองทุน NAMAs

กองทุน NAMA Facility เป็นโครงการความร่วมมือสำหรับการบรรเทาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในระดับประเทศ (NAMAs) ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของรัฐบาลกลางประเทศเยอรมนี (German Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation, and Nuclear Safety) สหภาพยุโรง (EU) และกระทรวงด้านสภาพภูมิอากาศ พลังงานและสาธารณูปโภคของเดนมาร์ก (the European Union and the Danish Ministry of Climate, Energy and Utilities) สนับสนุนประเทศคู่ค้าในการดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบการดำเนินงานของ NAMAs

Cr.: https://www.facebook.com/acatofficial


Visitors: 486,229